“การเรียนรู้มิได้สิ้นสุดที่โรงเรียนหรือมหาวิทยาลัย ที่แท้เราเพิ่งเริ่มต้นเรียนรู้จากชีวิตจริงหลังจบจากมหาวิทยาลัย”
โรงเรียนชีวิตช่วงเริ่มต้น
มีข้อความน่าคิดอยู่ข้อความหนึ่ง “เวลาเรามองภูเขาไกลๆ เราก็เห็นแต่ภูเขาสีเทา สวยงาม อบอุ่น น่าไปเที่ยวไปชม แต่เมื่อเดินเข้าไปใกล้ๆ ภูเขาอันสวยงามนั้นก็ค่อยๆ หายวับไป เราก็เห็นแต่ก้อนหินขรุขระก้อนใหญ่ๆ สูงคอตั้งบ่า ถ้าเราอยากจะปีนขึ้นไป แค่เห็นก็เหนื่อยและท้อใจแล้ว”
แต่ถ้าเราไม่ยอมปีนขึ้นไป เราก็จะไม่ได้ชื่นชมวิวอันสวยงามข้างบนซึ่งท้าทายนัก
เหมือนกับชีวิตคนเรา เมื่อตอนเด็กๆ มองว่าชีวิตผู้ใหญ่นั้นสนุกกว่าเป็นเด็กเยอะ เราต้องรีบโตเร็วๆ จะได้มีสตางค์ไปเที่ยวไหนก็ได้ จะทำอะไรก็ได้เอง ไม่ต้องขอสตางค์พ่อแม่ จะได้แต่งตัวสวยๆ จะไปไหนก็ไม่ต้องขออนุญาต
แต่เมื่อโตขึ้น ทุกช่วงก้าวของชีวิตของการเติบโตเป็นผู้ใหญ่ ก็ต้องเจออุปสรรคตั้งแต่การเรียนหนังสือ การสอบแข่งขันต่างๆ สุดท้ายเมื่อรับปริญญาก็ยังไม่จบ ยังต้องทำงาน ถูกบีบคั้นด้วยประสบการณ์ยังไม่มี ทุกอย่างก็ต้องเรียนรู้เพื่อให้ชีวิตดำรงอยู่กับสังคมใหม่ได้ต่อไป
โรงเรียนชีวิตช่วงกลาง
ตอนเป็นลูกน้อง ต้องรับคำสั่งเจ้านาย ซึ่งก็มีทั้งยากและง่าย ต้องทำงานในบริษัทซึ่งมีบรรยากาศทั้งดีและไม่ดี ต้องรอการพิจารณาเงินเดือนตำแหน่ง บางคนก็ใช้วิ่งเต้นประจบสอพลอเพื่อให้ได้ดี บางคนก็ใช้วิธีทำงานหนัก อดทนขยันหมั่นเพียร ไม่ง้อใคร นึกว่าทำดีต้องได้ดี แต่พอสิ้นปีก็พบแต่ความผิดหวัง ย้ายบริษัทไปนึกว่าสภาพจะดีขึ้น ก็เหมือนๆ กัน บริษัทในฝันไม่เคยเห็นมีเลย
ทุกบริษัทต่างมีการเมืองภายใน ต้องสู้ทั้งการแข่งขันทางธุรกิจภายนอก ต้องสู้ทั้งการแข่งขันภายในที่ไม่มีใครยอมใคร จากภูเขาสีทองอันสวยงาม ของเด็กๆ กลายเป็นก้อนหินก้อนใหญ่สูงลิ่ว เต็มไปด้วยความขรุขระ ปีนยากลำบาก ยิ่งก้าวสูงขึ้นไปก็ยิ่งหนาว แต่หากถ้าปีนขึ้นไปอยู่จุดชมวิวสูงสุดได้ ก็จะได้เห็นโลกอันสวยงามที่กว้างขึ้น
ชีวิตถ้าไม่ดิ้น ก็ต้องรอจนสิ้นใจ
สมัยเรียนมหาวิทยาลัย ยังเคยนึกอิจฉาเพื่อนบางคนมีชีวิตที่ดีจะทำอะไรก็ได้ดั่งใจ
สำหรับตัวเองต้องมาอาศัยเช่าหอพักหญิงเก่าๆ แถวถนนสาทร ชื่อหอพัก YWCA เป็นหอพักสำหรับนักเรียน นักศึกษาเฉพาะผู้หญิง ห้องนอนเป็นห้องขนาดใหญ่ นอนรวมกันประมาณ 20 คน ที่สำคัญค่าเช่าถูก เพราะสตางค์ทุกบาทมีความหมายว่ากว่าพ่อแม่จะได้มาแต่ละบาทนั้นยากแค่ไหน และพี่น้องอีกหลายคนล้วนแต่ต้องส่งเรียนทั้งนั้น
เมื่อเรียนจบก็ได้ทำงานแรกในชีวิตเป็นนักข่าวเล็กๆ ในหนังสือพิมพ์สยามรัฐ ของอาจารย์หม่อมคึกฤทธิ์ ปราโมช เป็นชีวิตที่ระหกระเหินเพราะเป็นแค่นกกระจิบตัวเล็กๆ ทั้งที่เลือกเรียนวิชาเศรษฐศาสตร์ระหว่างประเทศ นึกว่าออกมาน่าจะได้เป็นนักเศรษฐศาสตร์ ทำงานเกี่ยวกับการวางแผนที่เป็นการเงินการทองเหมือนที่ฝันไว้
แต่สัญชาตญาณแห่งการต่อสู้ เป็นสิ่งที่ติดตัวอยู่ในมนุษย์ทุกคน ไม่มีใครยอมลำบาก นั่งรออยู่กับที่ จะต้องดิ้นรนต่อสู้กันไปตราบที่ยังมีความฝัน
ชีวิตคือการเรียนรู้ตัวเอง
แล้วชีวิตก็ผกผัน เมื่อพ่อเรียกตัวกลับต่างจังหวัด เพราะอยากให้เราเป็นเจ้าของธุรกิจค้าขายเหมือนพ่อ ไม่ต้องไปเป็นลูกจ้างใคร ก่อนลงทุนเปิดร้านขายเฟอร์นิเจอร์หวายที่นาเกลือ เป็นร้านขนาดไม่ใหญ่มาก มีสินค้าสวยงามเต็มร้าน 2 คูหา เพราะที่บ้านมีโรงงานผลิตเฟอร์นิเจอร์หวายเอง
ช่วงนั้นนึกสะท้อนใจที่อุตส่าห์เรียนมา ต้องเฝ้าร้านอยู่เป็นปีๆ ก่อนจะใจแข็งไปขออนุญาตไปฝึกฝนวิทยายุทธ์ให้เก่งกล้า แล้วค่อยกลับมาเป็นนักธุรกิจเหมือนพ่อ
ชีวิตลูกจ้าง ที่เริ่มต้นนับหนึ่ง
ชีวิตกลับมาเริ่มต้นนับหนึ่งใหม่ กลับมาหางานทำในกรุงเทพฯ ได้งานในบริษัทสำนักพิมพ์แห่งหนึ่ง ทำนิตยสารสชื่อสไตล์ ซึ่งต่อมาเปลี่ยนเป็นสไตล์ แอนด์ ดีไซน์ แข่งกับนิตยสารบ้านและสวน ที่กำลังดังในยุคนั้น
ที่นี่พนักงานทุกคนต้องช่วยเหลือกัน ทำงานทุกอย่างนับตั้งแต่รับโทรศัพท์ พิมพ์หนังสือ งานสารบรรณ งานเลขานุการ ติดต่อลูกค้า ติดต่อโรงพิมพ์ ตรวจปรู๊ฟ บางครั้งต้องไปส่งเอกสารก็ต้องไปเอง เจ้านายไม่อยู่ก็ดูแลแทนทั้งหมดแล้วคอยรายงาน บางครั้งก็ต้องช่วยตัดสินใจจัดการแทนให้เสร็จเรียบร้อย
นับเป็นการเริ่มต้นฝึกงานที่สมบูรณ์แบบ ที่ตำราเรียกว่า On the Job Training นั่นก็คือ ทำไปฝึกไป ทำผิดบ้าง ถูกบ้าง ก็ไม่เป็นไร แล้วก็พัฒนาตัวเองทีละน้อย ทักษะก็เกิดขึ้นทีละน้อย ก็ค่อยได้รับความไว้วางใจมากขึ้น ได้ทำงานที่สำคัญขึ้น
นี่แหละ คือจุดคิดที่สำคัญของมนุษย์
การเรียนรู้ของมนุษย์มิได้สิ้นสุดที่โรงเรียนหรือมหาวิทยาลัย ตรงกันข้าม ทันทีเราจบจากมหาวิทยาลัย ชีวิตเราเพิ่งเริ่มต้นเรียนรู้จากชีวิตจริงนี่ เพราะเป็นการพิสูจน์ว่าเราสามารถประยุกต์เอาวิชาที่เรียนมา มาใช้ในชีวิตจริงได้แค่ไหน
ความรู้ในมหาวิทยาลัยเป็นความรู้ทางทฤษฎี ไม่ได้แปลว่าถ้าเราเรียนเก่ง สอบได้ที่หนึ่งตลอด สอบได้เกียรตินิยมเหรียญทอง ในชีวิตเราจะทำงานจะได้เกียรตินิยมเหรียญทองด้วย ตรงกันข้ามหลายคนเรียนเก่งแต่พอมาทำงานจริงกลับไม่เก่งเหมือนเรียนหนังสือ คนที่เรียนพอไปได้กลับประสบความสำเร็จในอาชีพสูงกว่ามีเยอะไป
มหาวิทยาลัยชีวิตนี่เอง เป็นมหาวิทยาลัยที่ใหญ่โตมโหฬาร เป็นมหาวิทยาลัยทุกสาขา ต้องเรียนวิชาชีวิตทุกวิชา และที่สำคัญก็คือ “ต้องเรียนกันตลอดชีวิต หยุดไม่ได้”
นักธุรกิจไทยที่ประสบความสำเร็จสูงสุดในวงการค้าจำนวนมาก ไม่ได้จบการศึกษาสูงแต่ตรงกันข้ามกลับประสบความสำเร็จอย่างยิ่งใหญ่ สร้างความร่ำรวยมหาศาล มีชื่อเสียงโด่งดัง บางคนกลายเป็นตำนานของวงการตลาด เช่น นายห้างเทียม โชควัฒนา ที่ไต่เต้ามาจากนักสู้ข้างถนนกลายมาเป็นเถ้าแก่เล็กๆ แล้วสุดท้ายก็กลายเป็นเถ้าแก่ใหญ่
สิ่งที่คุณเทียมสอนและทำตัวเป็นตัวอย่างกับทุกคน คือคำสอนที่ว่า “ซื่อสัตย์ อดทน ขยัน ทำงานหนัก ประหยัด และอ่อนน้อม”
สโลแกนสินค้าของนายห้างเทียมคือผงซักฟอกเปาบุ้นจิ้น ที่เกิดพลิกประวัติศาสตร์วงการตลาดที่ทำให้บริษัทตกตะลึง คือ “ซื่อสัตย์ ยุติธรรม” เพราะฝรั่งมองไม่ออกว่าเกี่ยวกับผงซักฟอกตรงไหน แต่ความจริงแล้วคือหัวใจของการค้าแบบจีน หมายถึง “ความซื่อสัตย์ต่อลูกค้า และความยุติธรรมต่อลูกค้า”
ตามคำโบราณที่บอกว่า “ซื่อกินไม่หมด คดกินไม่นาน”
และน่าจะเป็นจิตวิญญาณของพนักงานทุกคนที่จะไต่เต้าขึ้นตำแหน่งสูง คือต้องมีความซื่อสัตย์ จงรักภักดีต่อองค์กรเพื่อให้องค์กรเติบโต และเมื่อเราเติบโตขึ้น สิ่งที่เราต้องรักษาจุดยืนในบริษัทคือความยุติธรรม
ความยุติธรรม คือความไม่มีอคติในการบริหาร ไม่อคติเพราะรัก อคติเพราะเกลียด โกรธ อคติเพราะความกลัว เกรงใจ อคติเพราะความหลง ความไม่รู้ ความโง่เขลา ความเข้าใจผิด
ความยุติธรรมในการทำงาน ก็คือถ้าเราทำงานมาก งานสำคัญมาก เราก็ควรจะได้ผลตอบแทนมาก ถ้าเราทำงานน้อย สำคัญน้อย ก็จะได้ผลตอบแทนน้อย แปลว่าทำดีได้ดี ถ้าทำไม่ดีก็ไม่ควรจะได้ดี หรือควรจะถูกลงโทษด้วย
วิชาเหล่านี้ไม่มีสอนในมหาวิทยาลัย แต่ต้องมาเก็บเกี่ยวเองจากประสบการณ์ในการทำงาน แต่สุดท้ายเพราะเหตุผลบางอย่างอาจทำให้ลืมไปว่าการพัฒนาตัวเองให้มีศักยภาพสูงขึ้น เก่งขึ้น ฉลาดขึ้น จะหยุดไม่ได้
“เมื่อไรที่เราหยุดพัฒนาตัวเอง ชีวิตก็เหมือนสิ้นสุด โลกก็หยุด และเท่ากับเรารอวันตาย ชีวิตถ้าหมดความฝันเมื่อไร ก็หมดความพยายามเมื่อนั้น คนเราถ้าไม่มีเป้าหมายอะไรเหลืออยู่ อย่างน้อยขอให้มีความพยายามที่จะทำความดีให้มากที่สุด ดีที่สุดในชีวิต ดียิ่งกว่านี้ขึ้นไปอีกอย่างไม่มีวันสิ้นสุด ชีวิตก็จะมีความสุข”