บทที่ 8 นายจ๋า เอาไงดีจ๊ะ : ดร.สมฤดี ศรีจรรยา

ดร.สมฤดี ศรีจรรยา

คำถามว่าจะจัดการกับคนไม่ใส่ใจการทำงานอย่างไรดี การเป็นผู้บังคับบัญชาถือเป็นเรื่องยากและท้าทายที่สุด เพราะจะต้องจัดการกับปัญหาเรื่องคนเป็นหลัก

“การมีหัวหน้าดี เจ้านายดีก็จะได้รับเคล็ดลับในการบริหารงานที่ดี ที่ถูกต้องได้วิธีแก้ปัญหาแบบง่ายๆ อย่างที่คาดไม่ถึง”

สร้างค่านิยมคนดีกับลูกน้อง
เมื่อก้าวสูงขึ้น เริ่มมีผู้ใต้บังคับบัญชา ก็พยายามนึกว่าอะไรที่เคยเจอมาไม่ดีก็ไม่ควรทำ คำว่า “น้ำใจ” ในการบริหารองค์กรแบบไทยๆ จึงเป็นเรื่องช่วยไม่ได้ เพราะคำว่าการให้ทานหรือสงเคราะห์ เป็นหนึ่งในสัมมาทิฐิ 10 ข้อ ของพระสัมมาสัมพุทธเจ้า ซึ่งคอยเตือนให้คนทำดี เป็น Value of Life หรือค่านิยมในการดำรงชีวิตของคนดี ที่คิดว่าดีและน่าปฏิบัติได้ผลทุกข้อ
แต่ในทางกลับกัน การช่วยเหลือเกื้อกูลกันบางครั้งมาไปก็กลายเป็นข้อเสียในการปกครอง เมื่อไปเจอพนักงานที่ชอบเอาเปรียบพนักงานคนอื่น ขี้เกียจ หลบงาน มาสาย เป็นต้น

เก่งเรื่องงานไม่พอ ต้องเก่งเรื่องคนด้วย
คำถามว่าจะจัดการกับคนไม่ใส่ใจการทำงานอย่างไรดี การเป็นผู้บังคับบัญชาถือเป็นเรื่องยากและท้าทายที่สุด เพราะจะต้องจัดการกับปัญหาเรื่องคนเป็นหลัก
ในชีวิตการทำงาน มีอยู่สองเรื่องที่จะต้องเก่งให้ได้ คือ “เก่งเรื่องงาน” กับ “เก่งเรื่องคน”
เก่งเรื่องงานเป็นเรื่องไม่ยาก ไม่ว่าจะเป็นงานการตลาด งานการเงิน งานบัญชี งานบริการลูกค้า งานการผลิต การก่อสร้าง ก็สามารถหาคนเก่งมาช่วยได้ คิดต้นทุนก็ทำได้ คิดกำไรขาดทุนก็ทำมานักต่อนัก คิดเรื่องการตลาดก็ถือว่าหวานหมูแฮม เพราะทำมาทุกที่ก็เป็นอาชีพหลัก ทั้งการคิดการโปรโมต คิดราคา ส่วนลด แผนโฆษณา
แต่เก่งเรื่องคนนี่สิ! มันยากยิ่งนัก เพราะมนุษย์มีหลายประเภทต้องหาวิธีหลายหลากจัดการ

พนักงานที่ดีคือกำลังใจ กำลังสำคัญของการเติบโต
               ลูกน้องบางคนอยู่ใกล้ตัวทำงานดีแสนดี สั่งไปเรื่องไหนก็ทำได้หมด เก่งไม่เก่งไม่ว่าแต่พยายามทำ มีอะไรที่เป็นความลับบริษัท เรื่องการเงินการทอง ก็เหมาหมดทุกอย่าง เวลาไม่สบายก็คอยเข้ามาดูแล คอยถาม คอยให้กำลังใจ
ได้สร้างคนอย่างนี้ขึ้นมาทุกองค์กร ไม่ว่าไปอยู่ที่ไหนก็สร้างพนักงานจากไม่เก่งให้เก่ง สอนวิธีบังคับบัญชา สอนวิธีตั้งเป้าหมาย วางแผนงาน การทำรายงาน การควบคุมงาน คอยรายงานผล ถ้ามีอะไรเปลี่ยนแปลง
ถ้าเป็นฝ่ายขาย ก็ต้องรายงานการขายทุกวัน พนักงานขายที่ไม่ทำรายงานขายแปลว่าขี้เกียจ ไม่ทำงาน ตรงกันข้าม พนักงานที่ดีจะทำงานด้วยการตั้งเป้าหมาย นั่งค้นคิดวิธีการขยันทำงานหนัก หาวิธีใหม่ รับงานอะไรไปก็ทำงานเสร็จเร็ว เวลาเข้าประชุมทำรายงานทุกสัปดาห์ก็ไม่มีปัญหา ปรากฏว่าทำงานตรงเป้าหมาย
บางคนทำงานเกินตัว งานของตัวเสร็จแล้ว ก็ยังไปช่วยคนอื่นทำงาน ซึ่งก็เคยเป็นอย่างนี้มาก่อน แต่คิดเพียงว่าอยากเรียนรู้งานทุกด้านแบบ On the Job Training ผลพลอยได้คือเพื่อนร่วมงานรัก และผู้บริหารก็พอใจ ว่าคนนี้ไม่เหมือนคนอื่นเลย เป็นคนดี มีน้ำใจ และก็ได้ปรับตำแหน่งเร็วกว่า

ความสามารถในการบังคับบัญชา เป็นทักษะที่ต้องฝึกฝน
อันที่จริงถ้าให้เลือกก็ไม่อยากคิดเป็นนายใครเหมือนกัน เพราะชอบทำงานกับตัวเอง การวางแผนงานโครงการต่างๆ ก็สนุกอยู่คนเดียว เพราะไม่อยากมีปัญหาเรื่องคนจริงๆ
แต่ในองค์กรเมื่อก้าวสูงขึ้นไป จากหัวหน้าแผนกเลี่อนขึ้นเรื่อยๆ กระทั่งเป็นเจ้าของ ถ้าไม่ปรับตัวก็จะอยู่กับที่ เหมือนกับยืนตรงตีนเขาไม่ยอมปีนป่ายไปสู่ยอดเขา วันหนึ่งก็คงตายอยู่แต่ตีนเขา ไม่ได้ก้าวหน้าอะไร ก็จำเป็นต้องปรับตัว ฝึกทักษะ สู้ปัญหา แก้ไข ปรับตัว ทำอย่างนี้ไปเรื่อยๆ สะสมความเก่งทีละน้อย ไม่ชอบก็ต้องชอบ แต่เรียนเท่าไรก็ไม่มีวันจบ มีเรื่องใหม่ๆ ให้ฝึกคิดเสมอ

ตำราเล่มหนึ่งชื่อ ปีเตอร์ ปรินซิเปิ้ล ได้กล่าวไว้ว่าว่า “นักบริหาร ทุกคนจะต้องถูกปรับเลื่อนให้สูงขึ้นไปเรื่อยๆ จนวันหนึ่งจะถึงจุดหนึ่งที่ไร้ความสามารถ”
แปลว่าเมื่อพนักงานมีความสามารถเต็มร้อย เจ้านายก็มองเห็นแววก็เลื่อนให้เป็นหัวหน้าพนักงาน ความสามารถก็ลดลงเหลือแค่ 80 ไม่เต็มร้อย เพราะต้องฝึกใหม่ เรื่องการบริหารคน แต่ทำไปสักพักเจ้านายก็เห็นว่าในบรรดาหัวหน้าแผนก ก็ยังดีที่สุด ก็เลื่อนให้เป็นผู้จัดการฝ่าย ความสามารถจาก 80 ก็ลดลงเหลือแค่ 60 เพราะต้องดูแลคนมากขึ้น งานยาก ขึ้นอีกเท่าตัว
และถ้าเลื่อนไปเรื่อยๆ ความสามารถของเราจะสอบตก หรือเหลือแค่ 20 เลยทำอะไรไม่เป็นเลย
ดร. ปีเตอร์บอกว่า “เมื่อเราจะต้องใส่รองเท้าที่ใหญ่ขึ้น เราก็ต้องไปฝึกฝนความสามารถขยายเท้าให้ใหญ่ ตามรองเท้าตามตำแหน่ง ไม่ใช่ใหญ่แต่ตำแหน่ง มีแต่อีโก้หรือทิฐิ ความอวดดี ทั้งที่ไม่มีดีจะอวด”
การเร่งความสามารถให้สูงขึ้น ให้ใหญ่พอดีรองเท้านี้แหละ คือหัวใจสำคัญของบทนี้ การฝึกฝนความเป็นผู้บังคับบัญชาเป็นทั้งทฤษฎีและแบบฝึกหัดที่ต้องทำจริงๆ เผชิญเหตุการณ์จริง เจอวิกฤต คอยแก้ปัญหา ปรับยุทธศาสตร์
นี่คือ… สิ่งที่ต้องอ่านหนังสือมากขึ้น ฝึกมากขึ้น หาครูต้นแบบที่เราปรึกษาได้ ขอคำชี้แนะได้ ถ้ามีครูดี เจ้านายดี ก็จะได้รับเคล็ดลับในการบริหารงานที่ถูกต้องวิธีแก้ปัญหาที่คาดไม่ถึงเลยว่าบางครั้งคิดง่ายๆ ทำง่ายๆ ไม่ต้องวิจิตรพิสดาร คิดจนกลุ้มใจ หัวแทบแตกตาย ยังคิดไม่ออก แต่พอได้เห็น ได้ฟังผู้รู้แนะนำแล้วก็ทำได้
มนุษย์ทุกคนก็เหมือนอ่านหนังสือ ถ้าอ่านใจเขาได้เหมือนอ่านหนังสือทะลุปรุโปร่ง รู้จักใช้คำว่า “ใจเขาใจเรา” รู้จักยุทธศาสตร์ วิน-วิน หรือ เขาก็ชนะ เราก็ชนะ หรือ Synergy แปลว่า ผสานพลัง สร้างพลังใจให้รวมกัน เหมือนเข็นรถตกหล่มคันใหญ่ แล้วออกแรงพร้อมกัน ไม่ใช่คนละเปาะคนละแปะ ทุกคนก็อยากได้รางวัลในชีวิตทั้งนั้น ถ้ารู้จักหล่อและหลอมใจคนได้ดังนี้ทั้งองค์กร องค์กรนี้ก็จะกลายเป็นทีมแชมเปี้ยนมหัศจรรย์ได้ทันที
ซึ่งจะได้กล่าวถึงในบทต่อๆ ไป

 หัวใจสำคัญของการเป็นหัวหน้า
มีข้อคิดจากประสบการณ์ของการเป็นผู้บังคับบัญชา มีดังนี้
1. มีจุดยืนทางความคิดในทางบวก (Positive Thinking) มีความคิดในทางดีไว้ก่อน ไม่ว่าจะเกิดเรื่องร้ายหรือวิกฤตการณ์อะไร สิ่งที่จะต้องตั้งหลักคือคิดในทางดีไว้ก่อน ไม่มีปัญหาใดในโลกที่แก้ไม่ได้
เห็นอะไร ได้ยินอะไร ต้องไม่หูเบา ไม่เกิดอารมณ์ ไม่อารมณ์เสีย ถ้าเกิดความเสียหาย ก็ไม่แสดงอาการตีโพยตีพาย รีบเช็กความเสียหาย รีบสั่งการแก้ไขที่จุดเกิดเหตุทันที
2. มีความเด็ดเดี่ยว อดทน มานะพากเพียร แน่วแน่ (Persistence) สิ่งที่ลูกน้องคาดหวังก็คือ เมื่อเข้ามาหาผู้บังคับบัญชาต้องมีความสามารถไขปัญหาให้เขาได้
สิ่งที่ผู้บังคับบัญชาต้องเตือนตัวเองเสมอ ว่าเราเป็นหัวหน้าเขา เราก็ต้องช่วยชี้ทางให้เขาได้ สอนเขาได้ ให้เขากลับไปคิดทางแก้
3. มีความนิ่งสงบ สุขุม ลึกซึ้ง มีความเป็นผู้ใหญ่ (Maturity) การเป็นผู้บังคับบัญชาคน นอกจากจะเป็นทักษะที่ต้องฝึกฝน ต้องผ่านร้อนผ่านหนาว ผ่านประสบการณ์หนักๆ มาทุกรูปแบบ สิ่งที่เป็นคุณสมบัติประจำตัว คือความนิ่ง ความเป็นผู้ใหญ่เต็มตัว
หลายปัญหาเป็นปัญหาลึกซึ้ง ละเอียดอ่อน ซับซ้อน ต้องค่อยๆ คิด ค่อยๆ ไตร่ตรอง ต้องอาศัยจังหวะ เวลา และความอดทน เจ้านายที่ดีจะไม่ตีโพยตีพาย โมโหฉุนเฉียว แสดงอารมณ์ให้ผู้ใต้บังคับบัญชาเห็น
ผู้ที่ฝึกฝนมาดี จะวิเคราะห์ปัญหา ตั้งคำถามไล่เรียง หาสาเหตุต้นตอ คิดทางแก้ไขไว้หลายทางเลือก แล้วก็เลือก ตัดสินใจสั่งการ ทางที่ดีที่สุด เสียน้อยที่สุด มีการควบคุมตัวเองให้มีสติตลอดเวลา
4. มีสไตล์ของตัวเอง มีแนวคิดของตัวเองที่เป็นเอกลักษณ์ (Uniqueness) คนทุกคนจะมีสไตล์ไม่เหมือนกัน เราจะต้องพัฒนาศักยภาพของตัวเอง และรักษาเอกลักษณ์เอาไว้
ผู้บังคับบัญชาที่ดีต้องมีสไตล์ รู้จักใช้ทั้งพระเดช ใช้ทั้งพระคุณ คนที่ใช้อำนาจด้วยสติด้วยความถูกต้องทำนองคลองธรรม ไม่ยินดียินร้ายและไม่หลงติดกับอำนาจ ถือว่าเป็นเรื่องหัวโขนถึงเวลาก็ต้องถอดวาง ชีวิตมีแต่ความสุขและความสงบ และลูกน้องก็อยากให้อยู่นานๆ อยากตามไปทำงานด้วยไม่ว่าจะไปไหน

“คำว่า ‘อำนาจ’ เป็นเหมือนยาเสพติดที่น่ากลัว คนบางคนก็มีอำนาจ หลงอำนาจ พอเสพแล้วยาก พอมีอำนาจก็สั่งใหญ่ บางคนมีปมด้อย ก็ใช้อำนาจปกปิดปมด้อยของตนเอง หรือสร้างปมเขื่องให้กับตัวเอง”

 

เรื่องอื่นๆ ที่น่าสนใจ