บูรพา-อาคเนย์ เมื่อสิงคโปร์จะสูญเสียความเป็นศูนย์กลาง : บัณรส บัวคลี่

บัณรส บัวคลี่

มาเลเซียมีแนวทางพัฒนาประเทศตามแบบตัวเอง เน้นลงทุนใหญ่ๆ สาธารณูปโภค โครงการใหญ่ๆ ขนาดยอมถมทะเลสร้างหาดทรายเพื่อสร้างเกาะลังกาวีเป็นแหล่งท่องเที่ยวดูดเงินคนไทย แม้จะเป็นประเทศอิสลามแต่ก็สนิทสนมกับจีนค่อนข้างดี

คู่แข่งของสิงคโปร์คือมาเลเซียเพื่อนบ้าน  หรือต้องเรียกให้ถูกก็คืออดีตคนมลายูประเทศเดียวกัน ที่เพิ่งจะแยกประเทศกันเองหลังจากอังกฤษมอบอิสรภาพให้

มาเลเซียเติบโตอย่างรวดเร็วใน 2 ทศวรรษมานี้ แล้วก็อยู่ในหัวเลี้ยวหัวต่อของทิศทางยุทธศาสตร์การพัฒนาที่ชวนท้าทายมาก

มาเลเซียไม่เหมือนสิงคโปร์ตรงที่ไม่เอียงไปทางตะวันตกสุดโต่ง ต่างจากสิงคโปร์ที่ถูกขนานนามว่าเป็นนายหน้าตะวันตกในภูมิภาคนี้  มาเลเซียเป็นอิสลามทันสมัยเดินในกระแสทุนนิยม แต่เป็นทุนนิยมรัดกุมตามแบบของตัวเอง เมื่อ ราว 20 กว่าปีก่อนตอนที่โลกเริ่มเห่อกระแสการค้าเสรี เขตเศรษฐกิจพิเศษ ไทยเราเปิด BIBF และอาเซียนก็ประกาศเขตค้าเสรี AFTA ลดภาษีศุลกากรระหว่างกันลงเรื่อยๆ จนถึง 0% ในบั้นปลาย

ในช่วงแรกๆ ของการปฏิบัติตามข้อตกลงทุกประเทศจะต้องลดภาษีรถยนต์ลงเหลือ 0% จำได้ว่าตอนนั้นตรงกับรัฐบาลชวน หลีกภัย มีรัฐมนตรีประจำสำนักนายกฯกำกับบีโอไอ ชื่ออภิสิทธิ์ เวชชาชีวะ ส่วนมาเลเซียมีรัฐมนตรีการค้าฯ หญิงเหล็กคู่บารมีของดร.มหาธีร์ โมฮัมหมัด ชื่อว่านางราฟิดาห์ อาซิส เป็นผู้ออกหน้าในการเจรจาตามกรอบ AFTA ทั้งหลาย…ปรากฏว่าเมื่อครบกำหนดให้ทุกชาติลดภาษีรถยนต์แต่ราฟิดาห์ อาซิสยืนยันมาเลเซียไม่ลด เพราะมาเลเซียไม่พร้อม… เขารักษาผลประโยชน์ของเขาไม่แคร์คาถาลัทธิเศรษฐกิจแบบตะวันตก ซึ่งแนวทางแบบมาเลย์ เป็นแนวที่อยู่คนละด้านกับสิงคโปร์อย่างชัดเจน

มาเลเซียมีแนวทางพัฒนาประเทศตามแบบตัวเอง เน้นลงทุนใหญ่ๆ สาธารณูปโภค โครงการใหญ่ๆ ขนาดยอมถมทะเลสร้างหาดทรายเพื่อสร้างเกาะลังกาวีเป็นแหล่งท่องเที่ยวดูดเงินคนไทย  แม้จะเป็นประเทศอิสลามแต่ก็สนิทสนมกับจีนค่อนข้างดี  พอหมดยุคมหาธีร์มาเลเซียเหมือนจะแผ่วลงแล้วก็มาเจอปัญหาวิกฤตทางการเมืองในยุคนายกรัฐมนตรีคนปัจจุบัน นาจิบ ราซะก แต่อย่างไรก็ตามเขาก็มียุทธศาสตร์ยาวๆ ของเขา

 

มาเลเซียหวังจะเป็นศูนย์กลางแทนสิงคโปร์ ความฝันนั้นไม่ใช่จะเป็นไปไม่ได้ เพราะในท่ามกลางยุคสมัยของการเปลี่ยนแปลงใหญ่ของศตวรรษ 21 สิงคโปร์เองก็เจออะไรแปลกๆ ที่ทำให้ไปไม่เป็นอยู่เหมือนกัน ย่านถนนออร์ชาร์ดที่เคยหนาแน่นด้วยผู้คนและสีสันกลายเป็นถนนเงียบเหงาห้างร้านศูนย์การค้าแทบไม่มีคนเดิน เพราะนักท่องเที่ยวเลิกเห่อ และทุกชาติก็แข่งกันทำดิวตี้ฟรี

ยุทธศาสตร์หนึ่งแถบ-หนึ่งเส้นทาง โดยจะสร้างทางสายไหมทางทะเลแห่งศตวรรษ 21 (21st Century Maritime Silk Road) ที่จีนเริ่มขยับเคลื่อนตั้งแต่ 2014 มีผลสะเทือนต่อภูมิภาคเอเชียอาคเนย์ทั้งภูมิภาค ถึงขนาดสิงคโปร์อาจจะสูญเสียความเป็นศูนย์กลางขนส่งและการค้าทางเรือภายในไม่กี่ปีนี้

เพราะขนาดกิจกรรมทางเศรษฐกิจและสังคมตามเส้นทางสายไหมมันใหญ่โตมาก จีนเข้าไปร่วมลงทุน-ก่อสร้าง-บริหารท่าเรือน้ำลึกหลายแห่ง ที่กัมพูชาได้เช่าที่ดิน 99 ปีใกล้สีหนุวิลล์ ต่อไปที่นั่นจะเป็นท่าเรือน้ำลึกขนาดใหญ่ที่มีทั้งสนามบิน รีสอร์ตแหล่งท่องเที่ยวเชื่อมกับพนมเปญที่ทุนจีนพาเหรดเข้าไปจนแทบจะเป็นเมืองจีนไปแล้ว ตึกสูงที่สุดในอาเซียนกลางพนมเปญนั่นก็จีนสร้าง พื้นที่เมืองใหม่ชานพนมเปญนี่ก็จีน เขตท่าเรือน้ำลึกใหม่ตั้งประชันกับแหลมฉบัง จีนไม่ได้ทิ้งไทยหรอกครับเพราะจีนมีนิคมอุตสาหกรรมไทย-จีนที่ระยองและเขาจะมีทางรถไฟจากลาวลงมาถึงท่าเรืออ่าวไทย แต่จีนกำลังสร้างพื้นที่พัฒนาใหม่ที่คลุมอีสเทิร์นซีบอร์ดข้ามเกาะกงตลอดแนวชายฝั่งแถวสีหนุวิลล์ไปเลย

นี่เป็นภาพการพัฒนาที่ใหญ่มากของจุดต่อเชื่อมทางสายไหมจุดแรก ก็คือกัมพูชาและชายฝั่งตะวันออกของไทย

จุดต่อเชื่อมจุดต่อไปของเส้นทางสายไหมอยู่ที่มาเลเซีย !

            และนั่นจะทำให้ศูนย์กลางคมนาคมทางทะเลของช่องแคบมะละกาย้ายจากสิงคโปร์ไปอยู่ที่มาเลเซีย

นี่แหละที่สิงคโปร์ถึงกับออกอาการ

จีนกับมาเลเซียจับมือกันสร้างเขตเศรษฐกิจใหม่ที่ท่าเรือกวนตัน ปาหัง ทางด้านตะวันออกของประเทศ เรียกว่า The East Coast Development Corridor โดยมี Malaysia-China Kuantan Industrial Park (MCKIP) เป็นศูนย์กลางกิจกรรม แล้วจะพัฒนาย่านดังกล่าวเป็นเขตเศรษฐกิจ-การบริการใหม่ ดูภาพแล้วนึกว่าดูไบเลยครับ

ท่าเรือกวนตันจะเป็นจุดเชื่อมหนึ่งของทางสายไหมทางทะเล

พร้อมๆ กันนั้นมาเลเซียกำลังเริ่มสร้างท่าเรือน้ำลึกแห่งใหม่ที่ช่องแคบมะละกา

***คลิกอ่านนี่ครับ Chinese companies to help Malaysia build deep sea port

บริษัทจีน 3 บริษัทได้รับการคัดเลือกก่อสร้างท่าเรือแห่งใหม่มูลค่า 1.9 พันล้านเหรียญสหรัฐ นี่เป็นส่วนหนึ่งของภาพแผนการใหญ่ชื่อว่า Melaka Gateway Project ที่จีนกับมาเลเซียได้ลงนามร่วมกัน ท่าเรือนี้มีโครงสร้างใหญ่โต มีท่าสำหรับขนส่งของเหลว และยังมีโครงการต่อเนื่องให้เป็นศูนย์เศรษฐกิจใหม่บนเกาะ Melaka ดูจากแผนที่คงเห็นว่าเกาะนี้ห่างจากฝั่งมะละกาไม่มาก เป็นชัยภูมิธรรมชาติที่สามารถคุมช่องแคบที่แออัดที่สุดของโลกแห่งนี้ คาดว่าในปี 2019 ท่าเรือใหม่แห่งนี้จะเปิดใช้ ส่วน Melaka Gateway Project จะสมบูรณ์ในปี 2025

ชื่อมันก็บอกโต้งๆ ว่าจะผลักดันให้มะละกาเป็นเกตเวย์ แล้วก็เอ่ยถึงหนึ่งแถบหนึ่งเส้นทางกับทางสายไหมยุคใหม่

จีนเลือกมาเลเซียเป็นจุดเชื่อมต่อ ไม่ใช่ท่าเรือสิงคโปร์ที่เคยเป็นศูนย์กลางมายาวนานตั้งแต่ยุคอาณานิคมอังกฤษ

จากช่องแคบมะละกา เส้นทางย่อยที่จีนเชื่อมไปก็คืออินโดนีเซียซึ่งจีนกำลังสร้างไฮสปีดเทรนสายจาร์กาต้า-บันดุงอยู่ จากนั้นจะมีท่าเรือใหญ่อีกแห่งหนึ่งอยู่ที่ศรีลังกา โครงการที่นี่ใหญ่มากและดูเหมือนจะเกิดปัญหาอยู่ไม่น้อยเพราะคนท้องถิ่นไม่พอใจ เรื่องนี้ค่อยยกมาเล่าสู่กันภายหลัง

กิจกรรมของทั้งท่าเรือใหม่กวนตันและท่าเรือใหม่มะละกา จะปิดล้อมและเบียดบังเมืองท่าศูนย์กลางเดิมที่สิงคโปร์ ชนิดที่ไม่ต้องอรรถาธิบายอะไรมาก

สิงคโปร์แสดงออกต่อสาธารณะหรือในทางการทูตก็อย่างหนึ่ง ประกาศว่าหนึ่งแถบหนึ่งเส้นทางเป็นโอกาสที่ดี แต่สื่อสำคัญของสิงคโปร์อย่าง Chanel News Asia ได้ทำสกู๊ปเกี่ยวกับทางสายไหมยุคใหม่ชนิดเจาะลึก แล้วแต่ละตอนก็มักจะแทรกปมด้านลบของการก้าวรุกของจีนเข้าไปเป็นองค์ประกอบสำคัญของเนื้อหาที่จะสื่อสาร

***คลิกดู The Maritime Silk Road (2016) Ep2 – Malaysia 

ที่ยกตัวอย่างเป็นแค่ตอนเดียว ดูสนุกดี เขาทำการบ้านเยอะ หาแง่มุมมานำเสนอแบบพยายามใส่ทั้งโปรทั้งคอน ทีมงานเก่งทีเดียวที่พยายามหาแง่มุมทั้งหลายมาอธิบายบทบาทจีนในมาเลเซีย

แต่อย่างไรก็ตาม…หากดูหลายๆ ตอน สังเกตวิธีนำเสนอสังเกตธีมเรื่อง โดยอาชีพสื่อด้วยกัน เห็นหางเสียง เห็นท่วงทำนองก็พอมองออกว่าสื่อใหญ่ของสิงคโปร์อยากให้คนดูฉุกคิดในประเด็นแบบไหน อย่างเช่นการพยายามชี้ว่ามีรอยร้าวระหว่างคนเชื้อสายจีนกับคนมาเลย์ และบัดนี้ก็มีกลุ่มเสื้อสีการเมืองเหลือง แดงขึ้นมา ที่อาจจะเป็นปัญหาในอนาคต แล้วก็พูดเรื่องปัญหาผลกระทบจากทุนจีน ดูไปๆ นึกว่าดูช่อง NGO ซีรี่สารคดีชุด Maritime มี 4 ตอน ทุกตอนจะมีพื้นที่เพื่อรายงานภาพด้านลบของการเข้ามาของทุนจีน เช่นที่อินโดนีเซียจีนจะใช้ถ่ายหินและทำเหมืองแบบไหนทีวีสิงคโปร์รายงานละเอียดยิบ

สื่อสิงคโปร์ย้ำว่ายุคนี้เป็นยุคที่มาเลเซียมีความสัมพันธ์แนบแน่นกับจีนมากที่สุดและจีนได้มีโครงการลงทุนมายมายอยู่ในมาเลเซีย แถมยังช่วยหนุนหลังนายกรัฐมนตรีนาจิบ ราซะก์จากข้อกล่าวหาสำคัญคอรัปชั่นในกองทุน1MDB แล้วก็แจกแจงว่าจีนส่งเงินมหาศาลเข้ามาลงทุนในมาเลเซียอย่างไรบ้าง ดูจากสกู๊ปข่าวมันเยอะมากมหาศาลจริงๆ แหละครับ พอหลับตานึกภาพของกิจกรรมทางสายไหมว่านี่เป็นอะไรที่ยิ่งใหญ่ เกี่ยวข้องกับทั้งทุนทั้งคนและทรัพยากรมากมายทีเดียว

จีนเอาจริงเอาจังกับยุทธศาสตร์ One Belt, One Road หนึ่งแถบหนึ่งเส้นทางมาก ทางเหนือเส้นทางรถยนต์-รถไฟเชื่อมไปถึงยุโรปกำลังเดินหน้า ส่วนทางใต้นั้นเขาเรียกรวมกันว่าอยู่ภายใต้เส้นทางสายไหมทางทะเลแห่งศตวรรษที่ 21 (21st Century Maritime Silk Road) ภูมิภาคของถูกผนวกรวมเข้าในความยิ่งใหญ่ของแถบทางก็คืออาเซียน แล้วจะเชื่อมต่อไปยังเอเชียใต้ ตะวันออกกลาง อาฟริกา มีเส้นที่แยกออกไปเมดิเตอเรเนียนผ่านสุเอซ ซึ่งเป็นเส้นทางเดิมที่เจิ้งเหอ เคยยกขบวนเรือสมุทรยาตราประกาศแสนยานุภาพของจีนมาแล้วเมื่อ 600 ปีก่อน

ทางรถไฟจีน-ลาวที่จะเชื่อมลงมาไทยและมาเลเซีย-สิงคโปร์ แม้จะเป็นแถบการเชื่อมโยงแถบหนึ่งแต่ก็เป็นส่วนหนึ่งของแถบใหญ่ของทางสายไหมตอนล่าง

หนึ่งแถบหนึ่งเส้นทางของเขาไม่ได้มีแต่เส้นทางคมนาคม เพราะตลอดรายทางจีนเข้าไปร่วมลงทุน สร้างกิจกรรมใหม่เป็นล้านล้านเหรียญ

มันจึงประกอบเข้าด้วยกันทั้งเส้นทาง การคมนาคมเชื่อมโยง การพัฒนาสาธารณูปโภคและบริการใหม่ ก่อเกิดกิจกรรมทางเศรษฐกิจใหม่ตลอดแนวเส้นทาง

มาเลเซียกับสิงคโปร์กำลังจะเปิดไฮสปีดเทรนสายใหม่ เชื่อมกัวลาลัมเปอร์กับสิงคโปร์ โครงการนี้จีนแสดงท่าทีชัดเจนอยากจะเสนอตัวเข้าดำเนินการ เพราะก่อนนั้นจีนก็ได้ทำโครงการรถไฟความเร็วสูงสายแรกของอาเซียนระหว่างบันดุง-จาการ์ต้าไปแล้ว

                การเปลี่ยนแปลงใหญ่กำลังเกิดในอาเซียน น่าสนใจอย่างยิ่งว่าศูนย์กลางดั้งเดิมอย่างสิงคโปร์จะปรับตัวรับกับการเปลี่ยนแปลงดังกล่าวแบบไหน.

 

เรื่องอื่นๆ ที่น่าสนใจ