เกมออฟแบรนด์ “สุกี้ vs ชาบู” สู้ศึกเทรนด์รักสุขภาพ

ภาวนา อรัญญิก

ธุรกิจร้านอาหารญี่ปุ่นในประเทศไทย ปัจจุบันมีมูลค่าสูง 2.35 หมื่นล้านบาท เติบโต 10-15% ต่อปี โดยช่วง 4-5 ปีที่ผ่านมา มีอัตราการเติบโตเฉลี่ย 15% โดยกว่า 80% เป็นร้านอาหารญี่ปุ่นที่ตั้งอยู่ภายในศูนย์การค้าและห้างสรรพสินค้าต่างๆ มีมากถึง 2,346 ร้าน หรือเป็นอันดับ 2 ของตลาดร้านอาหารโดยรวม

การแข่งขันแบบข้ามสายพันธุ์( Cross segmentation)ในตลาดที่สินค้านั้นสามารถทดแทนกันได้เป็นอีกแนวรบหนึ่งที่มีความเข้มข้นมากขึ้นเรื่อยๆ อาทิกรณีร้านอาหารประเภทสุกี้และชาบูอยู่ในกลุ่มธุรกิจร้านอาหารประเภทหม้อไฟเช่นเดียวกันแต่ด้วยถิ่นที่มาแตกต่างทำให้รสชาติน้ำซุปมีเสน่ห์คนและแบบ

ความเหมือนระหว่างชาบูและสุกี้อีกอย่างหนึ่งคือการอยู่ในกลุ่มอาหารเพื่อสุขภาพจากวิธีการรับประทานแบบลวก จิ้มและส่วนผสมหลักคือผักและเนื้อสัตว์ที่หลากหลาย ดังนั้นกลุ่มเป้าหมายของทั้งสองตลาดจึงใกล้กันมากด้วยปัจจัยเหล่านี้ทำให้ทั้งสองตลาดซึ่งต่างมีผู้นำที่แข็งแกร่งทัดเทียมกัน ต้องหันหน้าเข้าแข่งขันอย่างที่ปฏิเสธได้ยาก

MK เสริมเกมรับ-เติมเกมรุก

เป็นที่ทราบดีว่าเอ็มเค เป็นแบรนด์ที่ครองความเป็นผู้นำในตลาดร้านอาหารประเภทสุกี้มายาวนานด้วยส่วนแบ่งตลาดราว 80% จากมูลค่าตลาดในปัจจุบันกว่า 10,000 ล้านบาท อย่างไรก็ตามด้วยการขยายตัวของตลาดร้านอาหารญี่ปุ่นที่สูงขึ้นอย่างต่อเนื่องจากความนิยมที่เพิ่มขึ้นเป็นอย่างมากซึ่งหนึ่งในนั้นคือ ร้านชาบู

ส่งผลให้เอ็มเคจำเป็นต้องเล่นเกมใหม่เพื่อรักษาฐานลูกค้าด้วยการตอบสนองความนิยมผ่านการเพิ่มน้ำซุปแบบชาบูเข้ามาเป็นทางเลือกพร้อมกับการเพิ่มไลน์อาหารแบบชาบู ซึ่งเป็นแบบที่สุกี้ไม่มีบริการ เช่น หมู-เนื้อ สไลล์ และน้ำจิ้มแบบญี่ปุ่น

ขณะนี้เดียวกันเอ็มเคจำเป็นที่จะต้องรักษาฐานที่มั่นในตลาดเดิมไว้อย่างสุดความสามารถ ด้วยการทำตลาดผ่านแนวคิดSegmentationเพื่อขยายฐานลูกค้าโดยวางเอ็มเคสุกี้ให้เป็นร้านสำหรับลูกค้ากลุ่มครอบครัว กลุ่มเพื่อน คนทำงาน รายได้ระดับปานกลางถึงสูง

เอ็มเค โกลด์จับกลุ่มรายได้ค่อนข้างสูงเน้นอาหารเกรดพรีเมียมโดยใช้วัตถุดิบที่พรีเมียมกว่าเอ็มเคแบบปกติ ตกแต่งร้านด้วยความทันสมัย มีบริการแบบบุฟเฟ่ต์ ราคาเฉลี่ยต่อคนประมาณ 600-700 บาท ซึ่งนี่ก็เป็นอีกกลยุทธ์ที่เอ็มเคแตกไลน์ธุรกิจออกมาเพื่อตอบโจทย์ลูกค้าระดับบน โดยสิ้นสุดปี 2559  เอ็มเคมีตัวเลขสาขารวม 425 สาขาและมีแผนที่จะขยายเพิ่มอีก 15 สาขาในปีนี้

ล่าสุดเอ็มเคเติมเกมรุกด้วยการเพิ่มแบรนด์ “MK Live” เพื่อเข้ามาเติมเต็มให้กับกลุ่มวัยรุ่นและกลุ่มคนรุ่นใหม่ที่มีกำลังซื้อสูง รวมถึงคนโสดที่มีมากขึ้น จากเดิมที่เน้นกลุ่มครอบครัวขณะเดียวกันยังเป็นการสร้างภาพลักษณ์ในฐานะเป็นผู้นำธุรกิจร้านอาหารสำหรับลูกค้าทุกกลุ่มเป้าหมาย

โดย Concept Store เป็นการมุ่งเน้นที่“LIVE”เพื่อสะท้อนถึงความสดใหม่ มีชีวิตชีวา เข้าใกล้ธรรมชาติให้มากขึ้นเป็นการหลุดออกนอกกรอบ “สุกี้หม้อไฟ” ยุคเก่าโดยไฮไลท์อยู่ที่สุกี้คอนเซ็ปต์ใหม่ “สุกี้นึ่ง“หรือสตรีมชาบู ต้นกำเนิดจากประเทศญี่ปุ่น

ขณะที่เมนูสุกี้ต้มแบบดั้งเดิมเลือกที่จะเพิ่มความถูกปากด้วย 5 น้ำซุป สตีมชาบู ต้นกำเนิดมาจากประเทศญี่ปุ่น มีให้เลือก 3 เซต ได้แก่ หมูคุโรบุตะ เนื้อวัวออสเตรเลีย หรือเนื้อวากิวญี่ปุ่นซึ่งจะร่วมให้บริการเฉพาะร้านเอ็มเค ครั้งนี้จัดเป็นการปฏิวัติการกินสุกี้ไปโดยสิ้นเชิง

เกมที่“ชาบูชิ”ต้องเผชิญ

ชาบูชิ เป็นแบรนด์ที่ขับเคลื่อนโดยกลุ่มบมจ.โออิชิ กรุ๊ป ให้บริการอาหารประเภทสุกี้&หม้อไฟญี่ปุ่น(ชาบูู-ชาบู)ซึ่งขณะนี้เป็นผู้นำด้วยส่วนแบ่งตลาดถึง 87% จากมูลตลาด 4,300 ล้านบาท (ไม่รวมสุกี้)ทั้งยังเป็นแบรนด์ที่ทำรายได้หลักให้กับบริษัทด้วยสัดส่วนกว่า 60% จากรายได้ทั้งหมดของธุรกิจอาหาร

โดยกลุ่มเป้าหมายหลักจะอยู่ในกลุ่มระดับกลางๆ ส่วนใหญ่เป็นกลุ่มครอบครัว คนรุ่นใหม่ นักศึกษา วัยรุ่น ซึ่งค่อนข้างครอบคลุมกลุ่มเป้าหมายได้กว้าง ซึ่งจุดเด่นของชาบูชิอยู่ที่การวางตำแหน่งให้เป็นกการผสมผสานระหว่างชาบู และซูชิเข้าด้วยกัน

ซึ่งระยะที่ผ่านชาบูชิต้องเผชิญกับการแข่งขันที่หนักหน่วง ไม่ว่าจะเป็นการเข้าสู่ตลาของแบรนด์ใหม่ที่เข้ามาสอดแทรกในตลาดแบบครบครันทุกระดับราคา รวมถึงการปรับกลยุทธ์ของคู่แข่งขันทางออ้อมผ่านการนำชาบูเข้ามาตอบโจทย์ลูกค้าอย่างร้านสุกี้ไม่ว่าเอ็ม เคหรือฮอท พอท

สะท้อนตัวตน Healthy brand

ชาบูชิ จึงไม่สามารถปฏิเสธการปรับกลยุทธ์ทางการตลาดและนำมาสู่การ Refresh brand ครั้งแรกในรอบ 16 ปี ด้วยการยกระดับหม้อชาบูให้มีระดับหรือPremiumมากขึ้น ผ่านการใช้แคมเปญการตลาด “Shabushi and So Much More” ภายใต้แนวคิด “ชาบู ซูชิ และอีกมากมาย ล้นสายพาน” ครั้งนี้มีเป้าหมายที่จะทำให้ชาบูชิอยู่ในใจผู้บริโภคต่อไปให้ได้

สำหรับกระบวนการเคลื่อนตัวของชาบูชิครั้งนี้เป็นการเสริมวัตถุดิบและเมนูใหม่อีกนับสิบรายการ อาทิเช่น เนื้อฮารามิหรือเนื้อส่วนพื้นท้อง, ปลาดอลลี่, แมงกะพรุน, เห็ดชิเมจิ, เอบิเทนแซลมอนมากิ, ซูชิกุ้งชุบแป้งทอด และอื่นๆ

ขณะเดียวกันตัดเมนูที่ไม่มีประโยชน์มากนักอย่างลูกชิ้นออกเพราะมีส่วนผสมของคาร์โบไฮเดรตมาก ขณะเดียวกันชาบูชิ มีการบาลานซ์สัดส่วนโภชนการให้สมดุล ทั้งโปรตีน คาร์โบไฮเดรต ไฟเบอร์ให้ลูกค้า พร้อมทั้งเพิ่มซูชิหน้าใหม่ๆซึ่งเป็นเมนูให้ดีต่อสุขภาพ ตามกระแส Healthy หรือ Clean Food ที่ยังคงเข้มข้นอย่างต่อเนื่อง

อย่างไรก็ตามความสุ่มเสี่ยงระยะแรกของการปรับกลยุทธ์ครั้งนี้อาจจะมาจากราคา โดยปรับราคาขึ้นอีก 40 บาท จากราคาหัวละ 359 บาท เป็นราคา 399 บาทที่อาจจะมีผลต่อการเปรียบเทียบในช่วงเศรษฐกิจขาลงอย่างในขณะนี้

ในส่วนของแผนการขยายสาขายังคงให้น้ำหนักกับการเปิดสาขาชาบูชิมากสุด 14 สาขาจากที่มีจำนวน 123 สาขา

เรื่องอื่นๆ ที่น่าสนใจ